วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เข้าห้องน้ำสาธารณะอย่างปลอดโรค!!!

เรื่องน่าสนใจในบทความนี้ หามาเสนอเพราะกังวลใจกับอาสาสมัครที่ลงไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม และตัวผู้ประสบภัยเอง

นอกจากจะเจอภัยน้ำท่วมแล้วก็ไม่อยากให้เจอกับโรคร้ายๆด้วย

เพราะเวลาน้ำท่วมแบบนี้ เชื้อโรคต่างๆมันเจริญเติบโตง่าย แล้วก็มีโอกาสติดได้ง่ายด้วย

วันนี้ก็เข้าเรื่องพื้นฐาน แต่เป็นเรื่องใหญ่ของคนเรามาลงก่อนเลย

น.พ.เชิดพงษ์ ชินวุฒิ สูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช สาทร-คอนแวนต์ เผยว่า "เชื้อโรคที่มักพบในห้องน้ำสาธารณะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เชื้อในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อหนองใน เชื้อเริม และเชื้อที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น เชื้ออุจจาระร่วง เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ เป็นต้น" 

แต่ละโรคน่ากลัวใช่เล่นเลยนะเนี่ย อย่างนี้ต้องระวังหน่อยล่ะ

เรามาดูกัน ว่าเชื้อพวกนี้จะอยู่ที่ไหน จะได้ระวังได้ถูก

เชื้อพวกนี้อาจแฝงอยู่ตามจุดต่างๆ ของห้องน้ำ เช่น ชักโครก อ่างล้างมือ หรือแม้กระทั่งลูกบิดประตู

จะเห็นได้ว่าเป็นจุดที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเราต้องสัมผัสอย่างเลี่ยงไม่ได้ น่ากังวลใช่มั้ยล่ะ

แต่ไม่ต้องเป็นห่วงหรือกังวลเกินไปจนไม่ยอมเข้า เดี๋ยวกระเพาะปัสสวะอักเสบกันพอดี 

ที่บอกว่าไม่ต้องกังวลเกินไปก็เพราะว่า โอกาสที่เราจะติดเชื้อพวกนี้จนทำให้เกิดโรคหรือเป็นอันตรายนั้นน้อยมาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเหตุผลที่ว่า

1. เชื้อพวกนี้จะสามารถก่อให้เกิดโรคได้ ต้องมีปริมาณที่มากพอ เราอาจไปสัมผัสกับเชื้อพวกนี้ก็จริง แต่ปริมาณไม่มาก จึงไม่เกิดอันตรายใดๆ

2. เชื้อพวกนี้มักจะเจริญเติบโตได้ดีในร่างกายคนเรา แต่เมื่อออกมาสัมผัสกับแสง และอุณหภูมิภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป เชื้อมักจะมีชีวิตอยู่ไม่นานพอที่จะติดต่อไปสู่คนอื่น

3. เชื้อพวกนี้จะก่อให้เกิดโรคได้ ต้องมีหนทางที่จะผ่านเข้าไปในร่างกายของคนเรา เช่น ผ่านเข้าทางผิวหนังที่มีแผล หรือรับเข้าทางปาก การที่เราไปสัมผัสและเชื้อนั้นติดอยู่กับผิวหนังเฉยๆ จะไม่ทำให้เกิดโรค เพราะผิวหนังเป็นปราการด่านแรกที่ป้องกันการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้เป็นอย่างดี (เพราะงั้นอย่าได้เอามือเข้าปากสุ่มสี่สุ่มหาเชียว)

4.หากได้รับเชื้อเข้าไปจริง ร่างกายของเรามีระบบภูมิคุ้มกันที่คอยจัดการเจ้าเชื้อโรคแปลกปลอมนี้อยู่แล้ว 

และ น.พ.เชิดพงษ์ แนะนำวิธีปฏิบัติตัวแบบง่ายๆ เพื่อป้องกันการรับเชื้อโรคจากการเข้าห้องน้ำสาธารณะไว้ว่า "ใช้เวลากับการทำกิจธุระในห้องน้ำสาธารณะให้สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ชักโครก เลือกที่ดูสะอาด ทำความสะอาดที่รองนั่งด้วยกระดาษทิชชูสักหน่อย แล้วจึงใช้งาน ไม่ต้องถึงกับใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ"

ทำตามที่นายแพทย์ท่านบอกก็น่าจะหมดห่วงไปได้แล้วล่ะนะ อ่อ!อย่าลืมล้างมือก่อนออกจากห้องน้ำด้วยล่ะ แล้วพอกลับถึงบ้านก็ทำความสะอาดให้ดีนะ



ขอขอบคุณ : yenta4.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น