วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

20 ประการ เตรียมบ้านให้พร้อมก่อนน้ำท่วมใหญ่ ตอนที่ 3

มาถึงตอนสุดท้าย ของ 20 ประการ เตรียมบ้านให้พร้อมก่อนน้ำท่วมใหญ่ แล้วจ้า ใครที่จำไม่ได้ สามารถย้อนไปอ่านได้เลยนะ แล้วอย่าลืมนำไปบอกต่อไกันด้วยล่ะ

อ๋อ!!!เผื่อใครลืมไป บทความนี้ถูกเขียนขึ้นด้วยข้อมูลและความรู้ส่วนตัวของท่านผู้เขียนที่ SmiLelY ไปเอาของท่านมากระจายต่อนะ จริงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขใดๆทั้งสิน เข้าใจตรงกันนะ





11. เตรียมระบบสื่อสารทุกประเภทเอาไว้ให้พร้อม


ระบบสื่อสารทุกอย่างที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นระบบโทรศัพท์ปกติหรือโทรศัพท์มือถือ ระบบอินเทอร์เน็ตทั้งมีสายและไร้สาย วิทยุ โทรทัศน์ หรือ อุปกรณ์สื่อสารพิเศษอย่างอื่น (เช่นระบบดาวเทียม วอร์คกี้ทอร์คกี้ เป็นต้น) เพราะการรับข่าวสาร และการติดตามข่าวสารเรื่องภัยน้ำท่วมที่จะมาถึงตัวเราเป็นเรื่องสำคัญ และไม่น่าจะเกิดความผิดพลาดในทุกวินาที

และหากน้ำท่วมแล้ว การขอความช่วยเหลือ หรือสอบถามข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ ณ วินาทีวิกฤตินั้นแน่นอน อีกทั้งระบบสื่อสารที่เรามีนั้น มิได้ใช้เพียงการที่เราช่วยตัวเอง แต่อาจจะมีผู้เดือดร้อนคนอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือต้องการคำปรึกษาจากเรา ก็สามารถติดต่อกับเราได้ ต้องคนละไม้คนละมือเสมอ ทุกคนล้วนลำบากทั้งสิ้นครับ



12. ชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกอย่างเตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง


อุปกรณ์ไฟฟ้าหลายอย่างมีความจำเป็นยามเกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น ไฟฉาย วิทยุ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ มือถือ หรือแม้กระทั่งกล้องถ่ายภาพ ฯลฯ  จะต้องมีการชาร์จไฟไว้ให้เต็มร้อยตลอดเวลา เพราะยามน้ำท่วม ระบบไฟฟ้าทั้งหมดอาจติดขัดครับ

นอกจากอุปกรณ์ไฟฟ้าจะต้องชาร์จไฟให้เต็มที่แล้ว การใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเมื่อไฟฟ้าปกติไม่มา จะต้องประหยัดไฟด้วย เพื่อความมั่นใจว่าอุปกรณ์เหล่านั้นจะทำงานได้เต็มที่ยามฉุกเฉิน อีกทั้งต้องเตรียมอุปกรณ์อื่นเสริมอีกด้วย เช่น ไม้ขีดไฟ เทียนไข เป็นต้น



13. ย้ายของทุกอย่างให้อยู่ในที่ที่เหมาะสม


ข้าวของในบ้านของเรา ไม่ใช่เพียงเรื่องของอุปกรณ์ไฟฟ้าเท่านั้นที่เราจะต้องมีการจัดการย้ายให้อยู่ในที่ที่เหมาะสม แต่หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เราคิดว่ามีความสำคัญ และอาจจะเสียหายได้เมื่อมีน้ำท่วม ตั้งแต่รถยนต์ ถังกาซ เฟอร์นิเจอร์ หนังสือ ของขวัญ รูปภาพ ฯลฯ ขอให้ย้ายไปสู่ที่ที่เหมาะสม ซึ่งที่ที่เหมาะสมนั้นอาจจะอยู่ในตัวบ้านของเรา หรือจะย้ายออกไปเก็บไว้นอกบ้าน สถานที่อื่นที่คิดว่าปลอดภัย

มีข้อมูลว่า เมื่อน้ำท่วม หลายคนเป็นอันตรายอันเนื่องมาจากการ “ห่วงของ” ต้องลุยน้ำกลับไปกลับมาเพื่อขนของออกจากบ้าน และหลายครั้งที่ขนของออกมาแล้ว แต่ไม่มีที่วาง ก็จำต้องวางไว้ในที่ที่ไม่ปลอดภัย ปรากฏว่าของที่อุตส่าห์ขนออกมาด้วยความเสียดายหรือความผูกพันนั้น ถูกผู้ชั่วร้ายใจทรามขโมยต่อเอาไปอีกด้วย

แต่ของที่เราจะย้ายนั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นของทุกอย่างไปเลย เลือกเฉพาะที่เราคิดว่าต้องย้ายเท่านั้น  ของบางอย่างที่แช่น้ำได้ไม่มีปัญหา ก็ไม่ต้องขนย้ายก็ได้



14. ใช้พลาสติกซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่กลัวน้ำให้เป็นประโยชน์


วัสดุส่วนใหญ่จะกลัวน้ำ หรือไม่สามารถที่จะสู้กับน้ำได้ แต่พลาสติกเป็นวัสดุที่ไม่กลัวน้ำ ดังนั้นอุปกรณ์ต่างๆที่เป็นพลาสติก น่าจะต้องมีการเตรียมการเอาไว้ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นถังน้ำพลาสติก ท่อพลาสติก กระดานพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ้าหรือแผ่นพลาสติก ที่เราจะเอาไว้ใช้หุ้มอุปกรณ์หรือส่วนต่างๆของบ้านเรา ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ หนังสือ ฯลฯ แม้กระทั่งการหุ้มป้องกันตัวเรา หรืออวัยวะบางส่วนของตัวเราครับ

ขอให้หาซื้อผ้าหรือกระดานพลาสติกเก็บเอาไว้ใกล้มือเรา ยามฉุกเฉิน พลาสติกจะเป็นวัสดุอย่างหนึ่งที่มีประโยชน์มากจนคาดไม่ถึงได้ครับ และที่สำคัญอีกอย่างก็คือ “ห่วงยาง” ครับ



15. เตรียมอาหาร น้ำดื่ม และยาให้พร้อม

เพราะยามน้ำท่วมแล้ว เราอาจจะต้องติดอยู่ในบ้านของเราก็ได้ สิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีพของเราก็คือ “อาหาร” ที่ต้องเตรียมเอาไว้ ทั้งอาหารที่ต้องมีการปรุงด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้า (หรือกาซ) กับอาหารที่สามารถกินได้เลย โดยไม่ต้องมีการปรุง และต้องเตรียมเรื่อง “น้ำดื่ม” เอาไว้ด้วย เตรียมให้เพียงพอสำหรับทุกคนประมาณ 3 วันครับ

ยาเป็นสิ่งสำคัญมากอีกอย่างหนึ่งที่เราต้องเตรียมเอาไว้ (ในที่ที่ปลอดภัย) ยาหลักๆก็คือ ยาแก้ปวด ยากแก้ไข้ ยาแก้ท้องเสีย ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ยาล้างแผล ยาแก้แพ้  ยากันแมลงและยาของโรคประจำตัวของทุกคน

มีผู้หวังดีแนะนำบอกต่อว่า อย่าสะสม “สุรา” เอาไว้ตอนน้ำท่วม เพราะน้ำท่วมนานๆ อาจจะมีคนกลุ้มใจ แล้วใช้สุราแก้ความกลุ้มใจ จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยมากขึ้น ส่วนเหล่าขวดสุราที่เก็บสะสมเอาไว้ ไม่ต้องขนไปไกลก็ได้ เพราะขวดสุราเหล่านั้น เขาสามารถแช่น้ำได้ ไม่มีปัญหาประการใด






16. บ้านชั้นเดียว ต้องตรวจสอบหลังคาด้วย


สำหรับบ้าน 2 ชั้น หลังคาบ้านจะมีผลมากยามเมื่อฝนตกหนักๆ ซึ่งเราน่าจะต้องดูแลกันไปพอสมควรแล้วในเวลาที่เพิ่งผ่านมา แต่ในกรณีน้ำท่วมนั้นหลังคาไม่ค่อยมีผลมากเท่าไร เพราะน้ำท่วมจากข้างล่างขึ้นไป หากท่วมถึงหลังคาชั้นสอง เราก็น่าจะย้ายไปอยู่ที่อื่นก่อนหน้านั้นแล้ว แต่กรณีที่เป็นบ้านชั้นเดียว น้ำอาจจะท่วมชั้นล่างของบ้านอย่างรวดเร็ว หลังคาหรือส่วนของหลังคาจึงเป็นพื้นที่หลบภัยได้ชั่วคราวพื้นที่หนึ่ง เราจึงต้องตรวจสอบทางหนีทีไล่ของเรา กรณีที่เราต้องขึ้นไปหนีภัยบนหลังคา ซึ่งเราอาจจะขึ้นไปทางฝ้าเพดานของเรา (กรุณาอย่าลืมตัดวงจรไฟฟ้าที่บ้านทั้งหมดก่อนจะขึ้นไปบนฝ้าเพดานสู่หลังคานะครับ)



17. ระวังโจร ระวังมาร ระวังผู้ชั่วร้าย


เป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสลดใจที่สังคมน่าอยู่และเห็นอกเห็นใจของเมืองไทยเรา ได้ถูกลัทธิวัตถุนิยมเข้าครอบงำไปหลายส่วนแล้ว ดังนั้นเราจึงได้ข่าวเนืองๆว่า มีผู้ชั่วร้ายที่อยากได้ประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก เข้ามารังแกจี้ปล้นประชาชนที่กำลังลำบากทุกข์เข็ญ

ยามน้ำท่วม เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังยุ่งกับภารกิจอย่างอื่น เหล่าคนชั่วก็จะออกอาละวาดรังแกผู้ที่กำลังเดือดร้อน มีการขโมย จี้ปล้น ฉกชิงวิ่งราว ให้เราได้ทราบอยู่เป็นประจำ และมีความเป็นไปได้ว่าหนึ่งในอนาคตนั้นอาจจะเป็นตัวเราและบ้านของเรา ดังนั้น การเตรียมการป้องกันโจร จึงเป็นอีกประการหนึ่งที่เราต้องเตรียมการ อย่าเก็บของมีค่าเอาไว้ในบ้านของเรา เอาไปฝากที่อื่นก่อนดีกว่า เงินทองไม่จำเป็นที่ต้องพกมากมาย และคอยเฝ้าสังเกตบุคคลที่น่าสงสัย  การส่งเสียงดังๆในบางครั้ง จะเป็นอาวุธป้องกันตัวเราได้



18. เพื่อนบ้าน ต้องร่วมด้วยช่วยกัน


ในกรณีนี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องของการต่อสู้ป้องกันโจรประการเดียว แต่หมายถึงในทุกๆกรณี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เรา “ขอความช่วยเหลือ” จากเพื่อนบ้าน แต่หมายถึงการที่ “เราจะช่วยเหลือเพื่อนบ้าน” ด้วย รวมๆกันก็หมายถึง “การสร้างชุมชนเข้มแข็ง” เพราะความรักที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้เสมอยามที่คนเรามีความลำบากร่วมกัน อย่าต่อสู้หรือป้องกันภัยทั้งหลายคนเดียว ต้องสื่อสารกัน ต้องจับมือกัน และวางแนวทางการป้องกัน การต่อสู้ที่เป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น แล้วเราจะมีโอกาส หากตอนนี้เหล่าเพื่อนบ้านยังไม่มีการเคลื่อนไหวร่วมกัน เราก็อาจจะเป็นแกนตัวเล็กๆที่จะเป็นผู้เริ่มต้นได้ครับ  อย่าอาย อย่ากลัวใครเขาหมั่นไส้ครับ หากเราเป็นคนดี มีจิตใจดี ทุกคนจะเข้าใจครับ



19. เตรียมทางหนีทีไล่เพื่อออกจากบ้าน

ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า การป้องกันน้ำท่วมก็เหมือนการป้องกันเมืองจากการโจมตีของข้าศึก ซึ่งเราอาจจะป้องกันเอาไว้ได้หรือป้องกันไม่ไหวก็ได้ หากถึงที่สุดแล้ว เราไม่มีทางต่อสู้ได้แน่ๆ  พ่ายแพ้แล้ว  การเตรียม “ทางหนี” เป็นเรื่องที่จำเป็น หากเราเตรียมทางหนีเอาไว้แต่แรก เราก็สามารถหนีได้ หนีทัน เกิดความเสียหายน้อยลง ทางหนีจากกรณีน้ำท่วมบ้าน อย่าคิดเพียงทางหนีออกจากบ้าน แต่ต้องคิดให้จบว่าหนีออกไปแล้ว จะหนีด้วยอะไร มีเรือหรือห่วงยางหรือไม่ มีเชือกสาวตัวเองหรือไม่ จะพกอะไรติดตัวไปบ้าง (ที่สามารถพกพาแบกหามไปได้) และจะมุ่งหน้าไปทางทิศใด มุ่งหน้าไปไหน และจะไปหยุดที่ใด พักที่ใด กับใคร ทุกอย่างต้องคิดเป็นกระบวนการ และคิดให้จบวงจรไว้แต่แรกครับ



20. ตั้งจิตให้มั่น ตอนนี้ “สติ” สำคัญที่สุด


อย่าเสียเวลากับการเกรี้ยวโกรธ อย่าเพิ่งด่าอะไรใคร อย่าโทษฟ้าดิน ยังมีเวลาและโอกาสอีกมากมายที่จะทำเช่นนั้น เวลานี้เป็นเวลาที่เราต้องตั้งสติ และคิด และเตรียมการอย่างเป็นระบบ เราต้องรับรู้ข่าวสารต่างๆอย่างทันต่อเหตุการณ์จากคนที่เชื่อถือได้ (ระวังคำพูดนักการเมืองนิดนะครับ)  ต้องฟังวิทยุ หรือแม้แต่ติดตามทางอินเทอร์เน็ต (เช่น http://www.thaiflood.com/  หรือ  http://flood.gistda.or.th/ เป็นต้น)







อ่านมาทั้งหมดทั้ง 20 ข้อ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ"สติ"หากว่าเรามีสติ ทุกๆอย่างก็จะเป็นไปอย่างราบลื่น และเป็นขั้นเป็นตอน จะไม่เกิดความเสียหาย หรือเกิดขึ้นน้อยมากถึงมากที่สุด ทั้งกับตัวทรัพย์สิน และตัวเราเอง

ขอให้ทุกคนมีสติเข้าไว้นนะจ้ะ อย่าได้ตื่นหนกวิตกจริตไปจนไม่เป็นอันทำอะไร

สุดท้ายก็เช่นเคย ขอให้ปลอดภัยทั้งทรัพย์สินและร่างกายนะ

แล้วเจอกันใหม่บทความน่าจ้า บะบาย





ขอขอบคุณ : นายยอดเยี่ยม เทพธรานนท์  สถ. ๓๔๔ ว. ตุลาคม ๒๕๕๔ และ ไทยรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น